S E A R C H

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สปาปลาบำบัด [Fish Spa Therapy]

สปาปลา บำบัด [Fish Spa Therapy]
 
การผ่อนคลายแบบสปา มีมากมายหลายวิธี ทั้งนวดหน้า นวดเท้า นวดตัว ซึ่งจะบำบัดด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป และที่กำลังเป็นสปาที่น่าสนใจอีกอย่าง คือสปาที่ใช้ปลาบำบัดเท้า โดยใช้ปลาซึ่งเป็นปลานำเข้า เป็นปลาที่ได้รับการรับรองจากหลายประเทศทั่วโลกทั้ง ตุรกี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ว่าสามารถบำบัดและรักษาโรคได้จริง

ซึ่งปลาที่ว่านี้คือปลาในครอบครัว ปลาคาร์พและมินโน (minnow and carp family) ชื่อว่าปลา การา รูฟา (Garra rufa) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cyprinion Macrostomus หรือชื่ออื่น ๆ เช่น Doctor fish, Nibble fish, Kangal fish และ Redish log sucker แต่ชื่อที่เป็นที่รู้จักกันได้แก่ Gara rufa (การา รูฟา) เป็นปลาน้ำจืด จะมีอายุประมาณ 6-7 ปี ความยาวเต็มที่ประมาณ 7 เซนติเมตร โดยปกติปลาการา รูฟานี้จะว่ายวนอยู่บริเวณท้องน้ำ หา algae (จำพวกแพลงตอน หรือเห็ดราเล็กๆ) ใต้น้ำกินเป็นอาหาร

ที่ปลาการารูฟาถุกขนามนามว่า Doctor Fish เนื่องจากประโยชน์ของการทำสปาปลาการา รูฟานั้น คือการช่วยกินเซลล์ผิวที่ตายแล้ว โดยการเกาะและตอดในลักษณะสั่นแบบช็อตไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า Spark vibration ทำหน้าที่ดูดเซลล์ผิวหนังที่ตาย แบคทีเรียและเชื้อราที่ก่อให้เกิดกลิ่นอับที่เท้า อีกทั้งน้ำลายของปลาพันธุ์นี้จะมีเอนไซม์ชื่อว่า Diathanol ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นผิวให้เกิดเซลล์ใหม่และช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวเก่าที่สึกหรอ ช่วยให้ผิวดูชุ่มชื่นขึ้นและช่วยรักษารอยแตกที่ส้นเท้าได้ ปลาจะคอยตอดทำให้รู้สึกจั๊กกะจี๊นิดๆ เหมือนถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ มันจะทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย สบายเท้า

ในทางการแพทย์ถือว่าการใช้ปลาการา รูฟา บำบัดเป็นวิธีการธรรมชาติบำบัดที่ได้ผลดีที่สุดทางหนึ่งแต่ปัจจุบันปลาการา รูฟา ที่อาศัยในตะวันออกกลางนั้นได้ถูกจัดเป็นสัตว์สงวนแล้ว เราจึงต้องหาซื้อจากประเทศญี่ปุ่นแทนเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นได้ทำการซื้อสายพันธุ์ปลาชนิดนี้

ในประเทศไทยมีการนำปลาหมอสี มาใช้ในการให้บริการด้านการทำสปาปลาเช่นกัน ซึ่งความแตกต่างระหว่างปลาการา รูฟา จากประเทศญี่ปุ่น กับปลาหมอสีของประเทศไทยนั้นอยู่ที่การบำบัดให้บริการ ปลาหมอสีจะบำบัดทุกส่วนของร่างกาย แต่ปลาการารูฟาจะบำบัดเฉพาะที่เท้าเท่านั้น และในด้านลักษณะทางกายภาพของตัวปลา ปลาหมอสีนั้นจะโตเร็วมาก ทำให้ต้องหาพันธุ์ปลามาทดแทนตัวเก่าตลอดเวลาเนื่องจากไม่สามารถใช้ปลาที่มีขนาดของตัวใหญ่มาทำการเกาะและดูดที่ผิวหนังของมนุษย์ได้เพราะจะทำให้เกิดแผลและเลือดออกมาก และจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่การใช้ปลาการา รูฟา นั้นมีข้อดีตรงที่ปลาจะเจริญเติบโตเต็มที่ในขนาดของลำตัวที่ 7 เซนติเมตรเท่านั้นภายในระยะเวลา 7 ปี และไม่เป็นขนาดที่ใหญ่จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับจากวงการแพทย์ในการเลือกใช้เพื่อดูแลรักษาสภาพผิว


ประโยชน์ของการทำสปาปลาการา รูฟา

• ทําความสะอาดผิวหนัง หรือ กระบวนการปลาบําบัด

• ช่วยกําจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายออกไป

• ช่วยลดปัญหากลิ่น เพราะปลาช่วยกําจัดแบคทีเรีย และ เชื้อราที่เท้าและมือ

• กระตุ้นประสาทสัมผัสบริเวณเท้าและมือ

• ช่วยทําให้เท้านุ่มและเนียน

• เป็นการพักผ่อน ทําให้รู้สึกผ่อนคลายและสร้างความสนุกสนาน

แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้บริการสปาปลาก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน???

ก่อนอื่น ผู้สนใจเข้ารับบริการในสปาปลา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทางร้านเอาปลาอะไรมาใส่ไว้ในอ่างปลา เพราะปลาการ์รารูฟาจะเป็นปลาที่ไม่มีฟันแหลมคม ไม่ทำให้เกิดบาดแผลที่เท้าของผู้ใช้บริการ แต่เนื่องจากปลาดังกล่าวเป็นปลานำเข้า ราคาแพง และหายาก จึงมีผู้ประกอบการหัวใสแอบเอาปลาที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกันมาใช้แทน

การใช้ปลาชนิดอื่นเพื่อทดแทนปลานำเข้า ผู้ใช้บริการต้องตรวจสอบให้ดีว่าปลาที่ใช้มีปากแบบดูด และมีนิสัยชอบดูด ไม่ใช่กัดงับด้วย ขากรรไกร เพราะแทนที่จะเป็นการบำบัดรักษา ตอดเอาผิวที่ลอกออก อาจทำให้เกิดแผลที่เท้าได้

ตรวจสอบปลาแล้ว ก็ต้องมาตรวจสอบตัวเองว่ามีแผลที่เท้า หรือว่าเพิ่งจะโกนขนหน้าแข้ง หรือตัดเล็บ

หรือไม่ หากมีแผลหรือเพิ่งโกนขนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามา ก็ไม่ควรจะไปใช้บริการสปา เพราะอาจทำให้ติดโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า “สปาปลา ถือเป็นแฟชั่นเป็นของแปลกใหม่ที่ใครๆ ก็อยากลอง แต่ก็ต้องตระหนักถึงอันตรายของมันด้วย 15 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเปิดสปาปลา เพราะไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้ โดยเฉพาะโรควัณโรคเทียมที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในคนได้ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายได้ยากและต้องใช้เงินในการรักษาเป็นจำนวนมาก” วัณโรคเทียม เป็นโรคที่ไม่ติดต่อระหว่างคนต่อคน เหมือนกับวัณโรคปอด ยกเว้นมีแผล เป็นโรคที่ทนต่อคลอรีน ทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ตุ่มหนอง เรื้อรังไม่หาย นอกจากเชื้อวัณโรคเทียมแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จากการแช่เท้าอยู่ร่วมกันในอ่างปลา โดยมีน้ำเป็นตัวนำพา และการที่ปลาตอดคนโน้นทีคนนี้ที ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนใช้บริการสปาปลา ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีแผลที่เท้า เพิ่งโกนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามาหรือไม่ เพราะแผลเพียงเล็กน้อย แบบแทบจะมองไม่เห็น เชื้อโรคก็สามารถเข้าไปได้ ที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ควรลืมสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานบริการถึงสาธารณสุข ทั้งเรื่องการคัดกรองผูู้เข้าใช้บริการ การดูแลสุขอนามัยของน้ำและปลา ก่อนการตัดสินใจใช้บริการ

“แบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำ จะทนต่อระบบกรอง ยู วี และทนต่อคลอรีน นอกจากผู้ใช้บริการสปาปลาจะต้องระมัดระวังให้มากแล้ว ผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีสิทธิติดเชื้อวัณโรคเทียม และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย โดยมีน้ำเป็นตัวนำพาได้เหมือนกับการใช้บริการสปาปลาเช่นกัน” นพ.มนูญ กล่าวสรุป.


สปาปลาในทัศนะของ

นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง

อธิบายถึงธรรมชาติของเจ้าปลาการ์รา รูฟา (Garra Rufa) ที่ใช้ในการทำสปาปลาว่า ปลาการ์รา รูฟา ที่ใช้ในการทำสปาปลานี้จะตอดเอาผิวที่ลอกและเสียของเราออกไป ถ้าเป็นบริเวณผิวปกติปลาชนิดนี้จะตอดน้อยกว่า มีการอ้างว่าสามารถบำบัดรักษาโรคผิวหนังบางอย่างได้และเท่าที่พบก็มีการอ้างอิงว่าสามารถบำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงินและโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) ได้

แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทั้งทางสถิติข้อมูลและจำนวนคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษารวมทั้งการรวบรวมขอ้มูลก็ยังไม่ชัดเจนว่าถ้าทำสปาปลาแล้วจะช่วยรักษาโรคผิวหนังได้จริง เพราะเป็นการสรุปกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้มีการยืนยันเอามาใช้ได้ในวงกว้าง แต่ที่น่าจะพอช่วยได้ก็คือ ช่วยทำให้ตาปลาที่กำลังจะลอกให้หลุดออกได้ง่ายขึ้นและมีผลทางด้านจิตใจ เพราะคนที่ใช้บริการก็จะรู้สึกว่าได้ผ่อนคลายเหมือนถูกนวดกระตุ้น สำหรับผู้ที่มีอาการทางผิวหนังก็จะรู้สึกว่าตัวเองกำลังได้รับการรักษาอยู่ก็อาจส่งผลดีได้เช่นกัน

ข้อแนะนำหากเราจะใช้บริการสปาปลาสักแห่งต้องพิจารณาอะไรบ้าง

มาตรฐานสปาปลาที่ดี คุณหมอรัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ อธิบายถึงปัจจัยที่เอื้อต่อสปาปลาที่ได้มาตรฐานในการบำบัดว่า
การใช้ปลาบำบัดรักษาเกี่ยวกับผิวหนังคงไม่ใช่แค่การให้ปลาตอดอย่างเดียว แต่การบำบัดรักษาต้องมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เอื้ออำนวยในการบำบัดด้วย คือต้องอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีองค์ประกอบเหมาะสม เช่น เป็นบ่อน้ำพุ บ่อน้ำร้อน บ่อน้ำแร่
มาตรฐานที่ 2 แหล่งน้ำต้องมีแร่ธาตุสำคัญในการบำบัดผิว
แหล่งน้ำต้องมีแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในการรักษาผิวหนัง เช่น ซีลีเนียม เพราะซีลีเนียมมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างผิวหนัง ผลัดเปลี่ยนผิวหนัง สร้างเซลล์ใหม่และส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือแหล่งน้ำนั้นต้องมีความเค็มของน้ำที่เหมาะสม
มาตรฐานที่ 3 มีแสงแดดแสงอัลตราไวโอเลตในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้แหล่งน้ำที่ใช้ในการบำบัด ต้องมีแสงแดดและแสงอัลตราไวโอเลตในระดับที่เหมาะสมเฉพาะกับแหล่งน้ำนั้นด้วย
เมื่อรู้ถึงการเลือกสปาปลาที่ได้มาตรฐานในการบำบัดแล้ว ก็เลือกใช้บริการได้อย่างสบายใจ
โรคเสี่ยงจากสปาปลาที่ขาดสุขอนามัย
คุณหมอรัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ เล่าถึงอันตรายจากการใช้บริการสปาปลาที่ไม่ถูกสุขอนามัยว่า
• การแช่รวมกันหลาย ๆ คน ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคอย่างเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย เชื้อโรคเหล่านี้อาจมาจากผิวหนังหรือจากเล็บก็ได้ และสามารถติดต่อไปสู่คนที่แช่อยู่ด้วยกันได้ โดยมีน้ำเป็นตัวนำพา
• นอกจากนี้ปลาที่ตอดคนโน้นที คนนี้ที ก็สามารถนำเชื้อโรคมาสู่เราได้ด้วยเช่นกัน ถึงเปลี่ยนน้ำ แต่ถ้าใช้ปลาชุดเดียวกัน ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคได้เหมือนกัน เช่น โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคซูโดโมแนส นอกจากนี้ยังมีโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ผิวหนังชั้นลึก
• ดังนั้นการถามกับเจ้าหน้าที่ของสถานบริการถึงสุขอนามัยทั้งเรื่องการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการที่ไม่มีปัญหาผิวหนังและการดูแลสุขอนามัยของน้ำและปลาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ได้ข้อมูลดี ๆ อย่างรอบด้านกันแล้ว ทีนี้ก็เลือกใช้บริการสปาปลาได้อย่างสบายใจ ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเพื่อนตัวเล็ก ๆ ที่ว่ายอยู่รอบ ๆ เท้า ช่วยดูแลเรา... เรียบเรียงบทความ "สปาปลาบำบัด Spa Fish Therapy" โดยกองบรรณาธิการ www.ok-spa.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น