S E A R C H

วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธาตุเจ้าเรือน ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในตัว

ธาตุเจ้าเรือน ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในตัว

ธาตุ หมายถึง สารประกอบที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ ซึ่งทั้งสี่ธาตุนี้ มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกายและทั้งหมดมีอิทธิพลต่อสุขภาพของเรา ธาตุที่อยู่ภายนอกคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ธาตุที่อยู่ภายในได้แก่ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา
แต่เดิมนั้นทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ว่า คนเราเมื่อเกิดมาในร่างกายจะมีส่วนผสมของธาตุทั้งสี่ที่ว่านี้ โดยแต่ละคนก็จะมีธาตุประจำตัวเป็นธาตุหลัก เรียกว่า ธาตุเจ้าเรือน ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด ซึ่งจะเป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ที่พิจารณาจากบุคลิก ลักษณะอุปนิสัย ภาวะด้านสุขภาพ ทั้งกายและจิตใจ ว่าสอดคล้องกับลักษณะของบุคคลธาตุเจ้าเรือนอะไร เมื่อเราทราบแน่ชัดว่าธาตุเจ้าเรือนของเราคือธาตุตัวใดเป็นตัวหลัก เราก็จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับสมดุลของร่างกาย เพื่อป้องกันจุดอ่อนที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

หากธาตุทั้ง 4 ภายในร่างกายของเราอยู่ในภาวะสมดุลแล้ว เราก็จะไม่ค่อยเจ็บป่วย หรือเรียกได้ว่าสุขภาพดี แต่ถ้าหากว่าธาตุทั้ง 4 ของเราเกิดขาดความสมดุลเมื่อใด โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากจุดอ่อนทางด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุก็จะตามมา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถช่วยเราได้ระดับหนึ่งในเบื้องต้นก็คือ การพิจารณาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน โดยในรสของอาหารและรสของยาแต่ละชนิด จะมีสรรพคุณพิเศษโดยเฉพาะที่เป็นตัวช่วยปรับสมดุลของธาตุเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย เช่น หากเราท้องเสีย เราควรกินผลไม้รสฝาด เพื่อหยุดอาการท้องเสีย หากเราเป็นไข้ เราควรกินอาหารรสขม เช่น สะเดาหรือมะระ เพื่อลดไข้ เป็นต้น

ตามทฤษฏีโบราณของการแพทย์แผนไทยนั้น จะใช้รสชาติของอาหารเป็นยารักษาโรค โดยรสชาติต่าง ๆ ที่มีผลต่อร่างกาย เราสามารถจดจำกลอนง่าย ๆ ให้ขึ้นใจจากรสยาทั้ง 9 รส ดังนี้
1. ฝาดชอบทางสมาน รสฝาดช่วยในเรื่องการสมานบาดแผล
2. หวานซึมซาบไปตามเนื้อ รสหวานจะซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อหนังบริบูรณ์
3. เมาเบื่อแก้พิษต่าง ๆ รสเมาเบื่อ ช่วยแก้พิษเสมหะ พิษไข้
4. ขมแก้ทางโลหิตและดี รสขมช่วยบำรุงเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ
5. รสมันบำรุงหัวใจ รสมันช่วยแก้เส้นเอ็น บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ
6. เค็มซึมซาบตามผิวหนัง รสเค็มช่วยแก้โรคผิวหนัง รักษาเนื้อไม่ให้เน่า
7. เปรี้ยวแก้ทางเสมหะ รสเปรียวแก้เสมหะ ฟอกโลหิต ระบายอุจจาระ
8. เผ็ดร้อนแก้ทางลม รสเผ็ดช่วยแก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม
9. รสจืดเย็น ช่วยแก้เสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

► เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเรามีธาตุใดเป็นธาตุหลักหรือธาตุเจ้าเรือน มีจุดอ่อนด้านสุขภาพด้วยโรคอะไร? และควรกินอาหารอย่างไร ให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือน ของเรา


ตามทฤษฏีของการแพทย์แผนไทย จะมีการวิเคราะห์ตาม วัน เดือน ปีเกิด ทำไมจึงกำหนดธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคนตามวัน เดือน ปีเกิด เพราะช่วงเวลาที่มนุษย์ปฏิสนธินั้น เป็นช่วงเวลาที่ไข่ของแม่และอสุจิของพ่อมีความสมบูรณ์ที่สุด ความสมบูรณ์นี้ได้มาจากสารอาหารที่พ่อและแม่กิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของอาหารกับดินฟ้าอากาศในเวลานั้น ๆ แพทย์แผนไทยจึงกำหนดเอาวันปฏิสนธิถือเป็นวันตั้งธาตุหรือธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน ดังนั้นผู้จะตรวจสอบธาตุเจ้าเรือนควรทราบวัน เดือน ปีเกิดจริง และในบุคคลหนึ่งก็อาจจะมีธาตุได้มากกว่าหนึ่งธาตุ ที่โดดเด่นออกมา เนื่องจากว่า การเกิดของแต่ละคนในแต่ละเดือนนั้น บางท่านเกิดช่วงต้นเดือน บางท่านเกิดช่วงปลายเดือน ซึ่งนั่นทำให้เกิดการส่งผลต่อฤดูกาลจากธาตุหนึ่งไปอีกธาตุหนึ่ง ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลแล้วก็มีผลได้เช่นกัน เราจึงเรียกว่าคนธาตุผสม ก่อให้เกิดธาตุหลักและธาตุรองนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น